หน่วยที่ 1

ความหมายของกฏหมาย
กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม
ความสำคัญของกฎหมาย
       ในสังคมของมนุษย์นั้นมีสมาชิกจำนวนมากที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความคิดเห็นและพฤติกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือกติการ่วมกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้
       1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ  เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม
      
       2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย


       3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม
     
       4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น
      
        ดังนั้น การที่ประเทศใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใดก็ตามถ้าได้มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็ย่อมทำให้การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนประสบผลสำเร็จได้สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมตามปกติ

ลักษณะของกฎหมาย

          มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากความคิด อุปนิสัย สภาพแวดล้อม เพศ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กฎหมายบางอย่างก็กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน ก็จะสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปแล้ว ก็จะมาจากคนในสังคมนั่นเอง

เราสามารถแยกลักษณะของกฎหมายออกได้เป็น 5 ประการ คือ

          1.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ซึ่งจะแตกต่างกับการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม คำสั่งหรือข้อบังคับนั้นมีลักษณะให้เราต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือ เราจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เช่นนี้เราก็จะไม่ถือเป็นกฎหมาย เช่น การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

         2.กฎหมายต้องมาจากรัฐาธิปัตย์หรือผู้ที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในระบอบเผด็จการหรือระบอบการปกครองที่อำนาจการปกครองประเทศอยู่ในมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นกฎหมาย ส่วนในระบอบประชาธิปไตยของเรา ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กฎหมายจึงต้องออกโดยประชาชน คำถามมีอยู่ว่าประชาชนออกกฎหมายได้อย่างไร ก็ออกโดยที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งก็คือสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)นั่นเอง ดังนั้นการเลือก ส.ส. ในการเลือกทั่วไปนั้นนอกจากจะเป็นการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ยังเป็นการเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อทำการออกกฎหมายด้วย
       
         3.กฎหมายต้องใช้บังคับได้โดยทั่วไป คือเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเสมอภาค จะมีใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ หรือทำให้เสียประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น กรณีของฑูตต่างประเทศซึ่งเข้ามาประจำในประเทศไทยอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีอากร หรือหากได้กระทำความผิดอาญา ก็อาจได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย โดยต้องให้ประเทศซึ่งส่งฑูตนั้นมาประจำการดำเนินคดีแทน ฯลฯ

        4.กฎหมายต้องใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการประกาศใช้แล้วแม้กฎหมายนั้นจะไม่ได้ใช้มานาน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นยังมีผลใช้บังคับได้อยู่ตลอด กฎหมายจะสิ้นผลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกกฎหมายนั้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเท่านั้น

        5.กฎหมายจะต้องมีสภาพบังคับ ถามว่าอะไรคือสภาพบังคับ นั่นก็คือการดำเนินการลงโทษหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบหรือหลาบจำ ไม่กล้ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอีก และรวมไปถึงการเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นด้วย



ประเภทของกฏหมาย
การแบ่งประเภทของกฎหมายสามารถแบ่งได้หลายประเภทด้วยกัน แต่ถ้าแบ่งประเภทของกฎหมายตามแหล่งกำเนิดของกฎหมายก็ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้คือ
1.1.กฎหมายภายใน
1.2.กฎหมายระหว่างประเทศ

1.1 กฎหมายภายใน(Internal Law) แ ยกพิจารณาออกได้เป็น 4 ประเภทดังนี้คือ

1.1.1 การแบ่งแยกประเภทกฎหมายตามเนื้อหาที่บัญญัติในกฎหมาย โดยแบ่งเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษณ
(1) กฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law) เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยคำนึงถึงเนื้อหาของกฎหมายเป็นหลัก การบัญญัติกฎหมายอาจเป็นไปตามกระบวน การนิติบัญญัติหรือออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นกฎหมายลายลักษณ์อักษรอาจบัญญัติขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นก็ได้
(2) กฎหมายทีไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Law) ซึ่งได้แก่กฎหมายจารีตประเพณีหรือ หลักกฎหมายทั่วไปต่างๆอันเป็นกฎหมายที่มิได้ บัญญัติขึ้นตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย

1.1.2 การแบ่งตามสภาพบังคับของกฎหมาย โดยแบ่งออกเป็นกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง
(1) กฎหมายอาญา(Criminal Law) เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับ หากผู้ใดกระทำความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ดังนั้นจึงแตกต่างจากสภาพบังคับในทางแพ่ง
(2) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์(Civil & Commercial Law) สภาพบังคับในทางแพ่งนั้นกฎหมายแพ่งมิได้กำหนดโทษไว้โดยตรงเช่นเดียวกับกฎหมาย อาญา แต่กฎหมายแพ่งก็มีสภาพบังคับในทางกฎหมาย เช่น หากมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หรือ งดเว้นไม่กระทำการบางอย่างที่กฎหมายให้ต้องกระทำ หรือกระทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย เป็นต้น บุคคลดังกล่าวนั้นก็จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หรือทำให้การกระทำนั้นๆ ต้องตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะ หรือถูกบังคับให้ชำระหนี้ เป็นต้น

1.1.3 การแบ่งตามหลักแห่งการใช้กฎหมาย โดยแบ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติ
(1) กฎหมายสารบัญญัติ(Substentive Law) เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่ของบุคคล ทั้งนี้โดยกฎหมายจะกำหนดการกระทำที่เป็นองค์ประกอบของ ความผิดไว้ ซึ่งทำให้รัฐสามารถบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้ เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น
(2) กฎหมายวิธีสบัญญัติ(Procederal Law) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยการนำเอากฎหมายสารบัญญัติไปใช้ ดังนั้นกฎหมายวิธี สบัญญัติ ก็ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎหมายวิธีความอาญา กฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามกฎหมายบางฉบับก็มีลักษณะเป็นทั้ง กฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ เช่น กฎหมายล้มละลาย เป็นต้น กล่าวคือมีทั้งหลักเกณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบของกฎหมายและมีสภาพบังคับและขณะเดียวกันก็มีวิธีการ ดำเนินคดีล้มละลายอยู่ด้วยในกฎหมายฉบับนั้น

1.1.4 การแบ่งตามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยแบ่งออกเป็น กฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน
(1) กฎหมายมหาชน(Public Law) อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ เป็นการ กระทำเพื่อความสงบสุขของสังคม หรือเพื่อการปกครองหรือบริหารปรเทศ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น
(2) กฎหมายเอกชน(Private Law) เป็นกรณีที่ไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความสัมพันธ์กันระหว่างเอกชนด้วยกันเอง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเรื่องของการผิดสัญญา อันทำให้สามารถฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ต่าม กฎหมายบางฉบับก็อาจเป็นทั้งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

1.2 กฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1.2.1 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public intertionnal law) มีนักนิติศาสตร์บางท่านมองว่ากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนี้ไม่เป็น กฎหมายที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะไม่มีสภาพบังคับ กล่าวคือไม่มีองค์กรที่มีอำนาจบังคับให้ปฏิบัติตามมติของสมัชชาใหญ่ หรือสังคมประชาชนชาติหรือตามคำพิพากษาของ ศาลโลก(International Court of Justice) แต่อย่างไรก็ตามได้มีนักนิติศาสตร์บางท่านก็มองว่ากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนี้เป็นกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นกฎหมายข้อบังคับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐที่ต้องปฏิบัติต่อกันในฐานะที่รัฐเป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศ
1.2.2 กฎหมายระหว่างปรเทศแผนกคดีบุคคล(Private international law) เป็นกฎหมายซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่างรัฐกัน ในกรณีที่เกิด ปัญหาพิพาทกันย่อมเกิดปัญหาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับทำให้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีกฎหมายที่ เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย คอยเป็นตัวกำหนดว่าให้ใช้กฎหมายใดบังคับในกรณีที่มีการขัดแย้งกันดังกล่าว
1.2.3 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (International criminal law) เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่รัฐตกลงให้ศาลในส่วนอาญาของอีกรัฐหนึ่งมีอำนาจ พิจารณาพิพากษาลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำผิดนอกประเทศได้ ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจรัฐที่จะลงโทษได้ แต่อย่างไรก็ตามหากประเทศต่างๆ นั้นมีการทำสนธิสัญญา ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ก็สามารถส่งตัวผู้กระทำความผิดให้กลับมาถูกพิจารณาพิพากษายังประเทศไทยได้